ความเป็นมาของศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์

เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดตั้งโครงการรับสมัครเยาวชนและผู้สนใจเข้าฝึกหัดการแสดงโขน โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อจัดการแสดงในโอกาสงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล ของ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก กอปรกับร่วมฉลองวาระเปิดอาคารสถาบันคึกฤทธิ์ด้วย ในปีแรกนั้น มีผู้ที่สนใจเข้าเรียนและฝึกหัดโขนและละคร จำนวน ๗๐ คน
ความสำเร็จจากการจัดโครงการในครั้งแรกนั้นเอง ทำให้ในปีถัดมามีผู้สนใจเพิ่มขึ้น จำนวนรวม ๒๐๐ คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ด้วยสัมฤทธิผลที่เกิดขึ้น คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ จึงมีมติจัดตั้ง ศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ขึ้น ในพุทธศักราช ๒๕๕๕ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้านการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะการแสดงโขน ซึ่งได้รับความกรุณาจาก คุณครูจตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน ยักษ์) เป็นผู้อำนวยการควบคุมการฝึกหัดให้เป็นไปตามขั้นตอนและจารีตของโขน โดยมีคุณครูผู้ใหญ่ และคณะครูจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ เป็นผู้ฝึกสอน อาทิ คุณครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน ลิง) คุณครูทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์) ซึ่งคุณครูทั้ง ๓ ท่าน เป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลศิลปินคึกฤทธิ์ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีศิลปินชั้นครูจากสาขาต่าง ๆ รวมจำนวน ๓๐ คน มาร่วมสอนที่ ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ ด้วย
ปัจจุบัน ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ มีผู้เรียนทั้งสิ้น ๖๑๙ คน และเปิดสอนเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ โดยมีการสอน ๕ สาขา ได้แก่ โขน ละคร ดนตรีไทย พากย์โขน และ ขับร้องเพลงไทย ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งด้านเงินทุนและสถานที่ฝึกซ้อม โดยหมายมุ่งใช้การฝึกหัดโขนเป็นเครื่องมือให้เยาวชนได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับจังหวะดนตรี เป็นการออกกำลังกายที่เชื่อมโยงกับการฝึกฝนจิตใจและวินัยของผู้เรียน รวมทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเยาวชนทั้งด้านบุคลิกภาพและทักษะการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมุ่งหมายให้เยาวชนสืบทอดศิลปวิทยาด้านนาฏศิลป์และดนตรีให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยสืบไป