เรือนคุณย่า
เรือนหลังแรกเป็นเรือนฝากระดาน ๓ ห้อง สร้างด้วยฝีมือประณีตเพราะเป็นเรือนคหบดี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซื้อมาจากเสาชิงช้า เป็นเรือนประธานในกลุ่มเรือนอยู่อาศัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์และทุกคนในบ้านเรียกว่า “เรือนคุณย่า” จากเรื่องราวที่เล่ากันว่าเจ้าของบ้านเดิม คนสุดท้ายเป็นสุภาพสตรีคงจะรักบ้านหลังนี้มาก เมื่อย้ายเรือนจากเสาชิงช้ามาปลูกที่ซอยสวนพลูจึงยังคงผูกพันอยู่ และแสดงให้เห็นตั้งแต่บานประตูตกน้ำมันไปจนถึงพฤติกรรมอื่นๆ
เรือนหลังนี้ฝาประกนทำด้วยไม้สักพื้นในเรือนเป็นไม้สักที่หย่อง มีลายสลักไม้บานประตูเป็นไม้สักทอง กรอบประตูประณีตงดงาม บานประตูด้านซ้ายมีทองคำเปลวปิดอยู่ หน้าห้องมีพาไลหรือส่วนที่เป็นเฉลียง พื้นพาไลทำจากไม้มะม่วงจึงมีสีอ่อน เหนือบานประตูประดับไม้พายเล็กๆ เขียนลายทอง เปรียบเสมือนลายเซ็นของผู้ที่ปรุงเรือนขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นเลกฝีพาย ในสังกัดของพระเจ้าบรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ บิดาของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และมีไม้แกะสลักเป็นรูปครุฑหยุดนาค พระราชลัญจกรในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นต้นราชสกุลปราโมช
ภายในเรือนมีศิลปวัตถุล้ำค่าคือ เตียงเท้าสิงห์ลงรักปิดทองประดับกระจกสี บนพระแท่นมีรูปจำลองทวารบาล เหยียบสิงห์เลียนแบบอยุธยา และของอื่นๆ ตั้งไว้ เพื่อให้เป็นบริเวณที่ต้องเคารพ เนื่องจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เชื่อว่าพระแท่นนี้เป็นพระแท่นประทับ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเวลาทรงงาน เช่นงานทางด้านศิลปะหรือประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ จากรูปแบบและลักษณะสกุลศิลปะกรมศิลปากรระบุว่า เตียงเท้าสิงห์นี้สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสำนักไทย พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่บางพระองค์เท่านั้น ที่ทรงใช้เครื่องใช้ที่ลงรักปิดทองประดับกระจกสี
ในเรือนคุณย่ายังมีตู้ทองขนาดใหญ่เป็นที่เก็บรวบรวมเครื่องถมทอง ศิลปะที่เฟื่องฟูมากที่นครศรีธรรมราช เป็นสิ่งของประเภทเครื่องยศ เช่น หีบ ขั้นน้ำพานรอง เครื่องใช้ประจำ เช่น ตะไกร ตะบันหมากขนาดต่างๆ ไปจนถึงถ้วยน้ำสำหรับกรงนก ล้วนมีลวดลายละเอียดงดงามตามศิลปะสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และมีตู้ทองสมัยอยุธยาอีก ๒ ตู้ ตู้หนึ่งบรรจุหัวหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี และอิเหนา เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๕ หน้าหุ่นทุกตัวงดงามอ่อนช้อย อีกตู้หนึ่งบรรจุหัวโขนขนาดเล็กฝีมือช่างสมัยเดียวกัน