อาจารย์ฯกับโนรา





อาจารย์คึกฤทธิ์ กับ โนราพุ่ม เทวา
สมบัติ ภู่กาญจน์ เรียบเรียง
นอกจากงานสร้างสรรค์ กิจกรรมการฝึกหัดนาฎศิลป์โขนให้กับคนรุ่นใหม่ อันได้แก่การสร้างกลุ่มนักแสดโขนขึ้นในหมู่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แล้ว
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังให้ความสนใจอยู่เสมอ สำหรับการ‘สนับสนุนส่งเสริม’ศิลปินผู้ฝีมือในระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีผู้รู้จักแพร่หลายนัก ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในสังคมไทย
การแนะนำสาธารณชนให้รู้จัก กับขุนอุปถัมภ์นรากร โนราวัย ๘๐ ปี (อายุในช่วงที่ได้พบกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์) คือผลงานการสนับสนุนส่งเสริมอีกงานหนึ่ง ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เต็มใจและทุ่มเทให้เต็มที่ ที่จะทำให้เพชรเม็ดนั้น เปล่งประกายแสงขึ้นเด่นชัดในสังคมของประเทศไทย
เรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงนี้ เกิดขึ้นเมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๕๑๔
ณ ขณะนั้น คือช่วงเวลาที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชได้สร้าง ‘โขนธรรมศาสตร์’ ให้เป็นที่โด่งดังขึ้นมาแล้วเป็นเวลาสี่ปี งานเดินสายไปแสดงตามคำเชิญยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ จึงเป็น ‘งานสนุก’อีกอย่างหนึ่งของโขนธรรมศาสตร์ ที่ทั้งฝ่ายนักศึกษาผู้แสดง และทั้งฝ่ายหน่วยงานหรือสถาบันที่เป็นผู้เชิญ ล้วนมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง ในอันที่จะได้ร่วมกันทำกิจกรรมเผยแพร่ศิลปการแสดงอันมีชื่อเสียงของนักศึกษา ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนคนไทย และที่สำคัญยิ่งกว่าอื่น ก็คือการเดินทางทุกครั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือ “อาจารย์คึกฤทธิ์” ของนักศึกษา จะต้องร่วมอยู่ในคณะเดินทางในฐานะนายโรงด้วยเสมอ ถ้าไม่ติดธุระสำคัญด้วยประการใดๆ
ซึ่ง “นายโรงโขน” ท่านนี้ สามารถทำหน้าที่ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่ เป็นผู้แสดงปาฐกถาแนะนำเรื่องราวก่อนการแสดงหรือเรื่องราวอื่นๆ,เป็นผู้แสดงร่วมด้วยในบางงานบางโอกาส, และเป็นทั้งผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้รับเชิญจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่างบประมาณค่าใช้จ่ายที่ผู้เชิญมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลายครั้งที่ผู้เชิญเป็นหน่วยงานราชการไทย
ในเดือนมกราคม ปี ๒๕๑๔ โขนธรรมศาสตร์ได้รับเชิญให้เดินทางไปเปิดการแสดง ยังหลายจังหวัดที่ภาคใต้ ซึ่งในการแสดงครั้งหนึ่งที่จังหวัดสงขลา นั้น มีวิทยาลัยครูสงขลาเป็นเจ้าภาพ งานนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้บอกกับผู้เชิญว่า “มาสงขลาแล้ว ผมชอบพักที่โรงแรมสมิหลา และผมก็อยากให้เด็กโขนทั้งหมดของผม มาพักรวมกันอยู่ที่นี่ด้วย ค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีเพิ่มขึ้นอีกเท่าไรนั้น ผมรับผิดชอบเอง ส่วนคุณจะให้ไปแสดงที่ไหน ก็แค่จัดรถมารับไป ผมยินดีพาเด็กไปเล่นให้ได้ทุกที่ แต่ขอเพียงที่พัก ว่าถ้าผมอยู่อย่างไร ผมก็อยากให้นักศึกษาอยู่อย่างผมเหมือนกัน ผมชอบโรงแรมนี้ เพราะชอบความสงบสวยงามที่น่าอยู่น่าพักมากกว่าที่อื่น ส่วนจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกแค่ไหน ผมรับผิดชอบเองก็แล้วกัน”
ผู้แทนของวิทยาลัยครูสงขลา ดูจะเข้าใจในเจตนาเหล่านั้นดี เพราะฉะนั้น จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ นอกเหนือจากการแสดงแล้ว เหตุการณ์นี้ ก็เกิดขึ้นในโอกาสเดียวกัน
วันนั้นเป็นวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๑๔ หลังจากผ่านการแสดงเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะที่นักศึกษาโขนธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่กำลังทะยอยกันลงมารับประทานอาหารมื้อแรก ที่ค่อนข้างจะเป็นทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวันรวมกัน “อาจารย์คึกฤทธิ์” ก็เดินเข้ามาบอกกับกลุ่มนักศึกษา ว่า “หลังอาหารกลางวันวันนี้แล้ว ช่วงบ่ายๆก่อนการแสดง ถ้าพวกคุณไม่มีนัดจะไปที่ไหน ผมอยากให้เรามารวมกันที่นี่ ผมมีอะไรจะแนะนำให้พวกคุณได้รู้จัก กับ ศิลปะที่ล้ำค่าอีกหนึ่งชิ้น ที่เป็นเพชรเม็ดงามแห่งนาฏศิลป์พื้นบ้านของประเทศไทย”
ต่อจากนั้น นักศึกษาโขนธรรมศาสตร์ทั้งกลุ่ม ก็มีโอกาสได้รับฟังคำบรรยายจากอาจารย์คึกฤทธิ์ในเรื่องราวของนาฎศิลป์พื้นบ้านไทยที่เรียกกันว่า “โนรา” หลังคำบรรยายที่ครบถ้วนด้วยสาระและรสชาติ นักศึกษาหลายคนยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ตนได้มีโอกาสรู้จัก-ได้เห็น-และได้เข้าใจอย่างจริงจัง ในนาฏศิลป์ที่เรียกกันว่า “โนรา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการร่ายรำให้ชม ของผู้แสดงที่มีความสามารถสูงส่ง ผู้ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวย้ำในคำบรรยายว่า “ ตั้งใจดูเอาไว้ เพราะฝีมือเช่นนี้ มีเหลืออยู่อีกไม่มากนักแล้วในประเทศไทย”
ผู้ที่มาร่ายรำ ‘โนรา’ ให้ทั้งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ครูอาจารย์นาฏศิลป์ และนักศึกษาโขนธรรมศาสตร์ที่รวมกันแล้วมากกว่าร้อยคน ได้ชมในครั้งนั้น มีชื่อว่า “ขุนอุปถัมภ์นรากร” หรือที่อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวว่า “ชาวบ้านเขาเรียกท่านว่า โนราพุ่ม เทวา”
นั่นคือ ความทรงจำของผู้เรียบเรียงเรื่องราวนี้ ที่เป็นทั้งนักศึกษาซึ่งร่วมอยู่ในการเดินทาง และเป็นทั้งผู้แสดงคนหนึ่งในการแสดงครั้งนี้ ซึ่งความทรงจำดังกล่าวนี้จะสืบเนื่องต่อได้ด้วยข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เอง ที่ท่านได้เขียนถึงเรื่องราวนี้ไว้ด้วย ในคอลัมน์หน้า๕ ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๔ ข้อเขียนชิ้นนี้มีเนื้อความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของขุนอุปถัมภ์นรากร (ซึ่งผู้เรียบเรียงขอนุญาตตัดเนื้อความบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปบ้าง) ปรากฏดังนี้
*********** ************
คนเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์นั้น ตามปกติก็อ่านบทความของคนหนังสือพิมพ์ด้วยกันเองทุกวัน
ถ้าพบอะไรที่ตนไม่เห็นด้วย ก็ขัดคอกันเอง
เห็นอะไรที่ถูกใจก็สนับสนุน หรืออ่านแล้วทำให้เกิดสติปัญญา เกิดความคิดเพิ่มเติมขึ้นมา ก็เขียนต่อ
ผมเองก็ทำเช่นนั้นอยู่เป็นประจำและเป็นธรรมดา
อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ ๒๓ เดือนนี้ เห็นบทความของคุณงาแซง เรื่องท่านขุนอุปถัมภ์นรากร หรือโนราพุ่มเทวา อายุ๘๐ ปี จากเมืองพัทลุง ผู้ใช้ชีวิตของท่านมาด้วยความจงรักภักดี และความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยตลอด
............................( ตรงนี้ขออนุญาตตัด)............................
จึงขอเขียนเสริมเติมต่อ บทความของคุณงาแซง เรื่องท่านขุนอุปถัมภ์นรากร
เห็นจะดีเป็นแน่ทีเดียว
คุณงาแซง ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราช เรื่องจดหมายเหตุเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้มาลงไว้ ซึ่งผมขอคัดมาลงต่ออีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้
“ โนราคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนัน แล้วลาออก กลับไปแสดงโนราตามเดิม นายคนนี้ทูลถามกรมหลวงดำรงว่า เป็นกำนันไหนจะสู้โนราได้ อย่าว่าแต่จะให้เป็นกำนันเลย ถึงแม้จะให้เป็นอำเภอหรือเจ้าเมืองหรือเทศาก็ไม่ต้องการ เขาดีกว่าเทศา เพราะเทศามีคนถอดได้ โนราไม่มีใครถอดได้”
โนราคนที่ตรัสถึงในพระราชนิพนธ์นั้นคงจะไม่ใช่ท่านขุนอุปถัมภ์ฯ แต่ท่านขุนอุปถัมภ์ฯก็เคยเป็นกำนัน และราชทินนาม อุปถัมภ์นรากร นั้นก็เป็นราชทินนามตามประทวนกำนัน มิใช่ได้จากการเป็นโนรา
แต่นามโนราของท่านขุนนั้น ดูเหมือนจะโด่งดังกว่า เพราะคนเขารู้จักท่านทั่วทั้งภาคใต้ว่า โนรา พุ่ม เทวา
แปลว่า รำสวยเหมือนเทวดา
ยิ่งแปลเป็นฝรั่งยิ่งออกจะโก้
ไม่ใช่ Phoom the Great
แต่เป็น Phoom the Devine
ฟังแล้วจับใจพิลึก เพราะท่านขุนอุปถัมภ์ฯนั้น ถึงแม้จะมีอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์แล้ว แต่พอรัดเครื่องโนรา สวมเทริด ออกรำเข้ากับปี่กลองแล้ว ก็งามเหมือนเทวดาจริงๆ
ผมได้ดูท่านขุนอุปถัมภ์ฯรำโนราเป็นครั้งแรก ที่สงขลา เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง
ทางวิทยาลัยครูสงขลาได้มอบให้ท่านขุนอุปถัมภ์ฯหัดโนรานักศึกษาที่นั่น และเมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแสดงโขนที่สงขลา ทางวิทยาลัยครูก็ได้กรุณาให้ท่านขุนฯมารำโนราให้ดู
คนที่ครอบโขนละครแล้วนั้นถือว่าโนราเป็นครูใหญ่ และเป็นครูแรง พอได้ยินเสียงปี่กลองโนราขึ้น ก็ยกมือไหว้ทุกครั้งไป
พอได้ยินเสียงปี่กลองโนราดังขึ้นที่สงขลา โขนธรรมศาสตร์ก็ยกมือไหว้ขึ้นพร้อมกัน
และพอผมได้แลเห็นท่านขุนอุปถัมภ์ฯออกรำ ผมก็ขนลุกเกรียว เพราะรู้ตัวว่า ครูโนราที่ครูโขนละครเคยสั่งสอนให้เคารพกราบไหว้นั้น มาปรากฏตัวจริงๆอยู่เฉพาะหน้า
ศิลปที่ท่านขุนฯแสดงออกนั้น เป็นศิลปบริสุทธิ์
เป็นแสงสว่างที่ส่องออกมาจากในใจของคนที่เจริญแล้วด้วยวัฒนธรรมอันสูงส่ง
เป็นอำนาจ เป็นพลัง ที่อยู่เหนือกาลเวลาและอายุคน
เมื่อก่อนจะออกรำนั้น ท่านขุนฯเป็นผู้ที่เจริญด้วยวัย
แต่เมื่อออกรำแล้ว ท่านขุนเป็นดวงประทีปแห่งนาฏศิลป เป็นวิญญาณ หรือเป็นธาตุแท้แห่งโนรา
ไม่มีอายุ ไม่อยู่ในขอบเขตแห่งกาลเวลา
ปี่กลอง ที่เป็นคณะของท่านขุนฯ ก็อยู่ในระดับเดียวกัน
เป็นเสียงดนตรีปักษ์ใต้ ซึ่งมีลีลาอันไม่มีที่สิ้นสุด
ความเคลื่อนไหวและการใช้อวัยวะ มือ เท้า และแขน ขา ของท่านขุนฯ แสดงถึงวินัยแห่งศิลปิน ซึ่งไม่ทอดทิ้งการฝึกซ้อม
แม้แต่คนหนุ่มๆ เช่นครูนาฏศิลปกรมศิลปากร ซึ่งได้ไปดูในคราวเดียวกันนั้น ก็ยอมรับว่าทำไม่ได้อย่างท่านขุนฯ
ท่านขุนฯรำเสร็จแล้ว ผมและโขนธรรมศาสตร์ ตลอดจนครูศิลปากร ก็เข้าไปกราบไหว้ด้วยความเคารพอย่างจริงใจทุกคน ซึ่งท่านขุนฯก็เอามือลูบหัวประสาทพรให้ทุกคน
ผมก็เรียกท่านขุนฯว่า พ่อ ตั้งแต่นั้นมา
สมาคมชาวปักษ์ใต้จัดให้พ่อและคณะ ได้มาแสดงในงานดนตรีมหกรรมของกรมศิลปากรในคราวนี้
พอมาถึงกรุงเทพฯ พ่อก็ให้คนพามาหาผม เพื่อเยี่ยมถามทุกข์สุข
ผมถามพ่อว่า มากรุงเทพฯครั้งนี้ พ่ออยากได้อะไรบ้าง ผมจะได้หาให้
พ่อแกบอกว่าอายุปูนนี้แล้วไม่ต้องการอะไรหรอก ยังเหลืออยู่อย่างเดียวเท่านั้น
ผมก็ถามว่าอะไร
พ่อบอกว่า เคยรำโนราถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๖มาแล้วหนึ่งครั้ง รัชกาลที่๗หนึ่งครั้ง
ความปรารถนาในขณะนี้จึงมีอยู่อย่างเดียวคือ
ใคร่เข้ารำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้อีกสักครั้งเท่านั้น
เป็นบุญของพ่อที่ได้สมความปรารถนา เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พ่อและคณะเข้ารำโนราถวายทอดพระเนตรบนพระที่นั่งที่สวนจิตรลดา เมื่อตอนกลางวันวันเสาร์ที่ ๒๐ มีนาคม
พ่อและโนราอีกสามคน ซึ่งสองในสามคนนี้เป็นผู้ใหญ่บ้าน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง รำโนราถวายสุดฝีมือ
ใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที
จบแล้ว พ่อก็กราบบังคมทูลว่ายังไม่เหนื่อยเลย จะโปรดเกล้าฯให้รำอีกก็ยังได้
พ่อแกเป็นคนโบราณ จึงพูดจาเพ็ดทูลได้คล่องแคล่ว แม้แต่คนในคณะของพ่อ ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญจากท้องที่ห่างไกลนั้น เขาก็พูดจาเพ็ดทูลได้คล่องแคล่วเหมือนกัน
ด้วยภาษาพื้นบ้านธรรมดา ไม่ใช้ราชาศัพท์
ด้วยความเคารพที่ออกมาจากใจจริง
ไม่ปรากฎว่ามีอะไรมากีดกั้น ระหว่างเจ้าชีวิตกับชาวบ้านเมืองพัทลุง
คนที่พูด หรือคิดว่าราชาศัพท์เป็นเครื่องกีดขวางมิให้คนไทยใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวของเขานั้น เป็นคนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง
ที่ว่าไม่รู้จักที่สูงนั้นคือ ไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัวเมืองไทยว่าทรงใกล้ชิดกับราษฎรของพระองค์เป็นที่สุด ตั้งแต่รัชกาลไหนมาก็มิได้เคยทรงบังคับให้ราษฎรเพ็ดทูลด้วยราชาศัพท์ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำสามัญได้ตลอดมา สำหรับผู้ที่ไม่รู้ หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะรู้ราชาศัพท์
ผมเองเกิดไม่ทันรัชกาลที่๕ แต่ในรัชกาลที่๖นั้น เคยได้เห็นกับตาว่า ราษฎรพายเรือมาเฝ้าริมเรือพระที่นั่งที่อำเภอเจ้าเจ็ด และได้ยินกับหูว่า ราษฎรใช้สรรพนามเรียกตัวเองว่า “ฉัน” เรียกในหลวงว่า “ท่าน” และใช้คำรับ จ๊ะ จ๋า ตามที่เขาถือว่าสุภาพ โดยไม่มีใครไปกีดขวางห้ามปรามเลย
ที่ว่าไม่รู้จักที่ต่ำ ก็คือ ผู้ที่พูดหรือคิดเช่นนั้น รับราชการในตำแหน่งใหญ่โตเหนือหัวราษฎรธรรมดาสามัญ จนไม่รู้เสียแล้วว่า ราษฎรไทยเขามีเกียรติของเขาตามธรรมชาติเพียงใด
ในฐานะที่เขาเป็นคนไทย
มีในหลวงเป็นของเขา
เขาจะเข้าเฝ้าและเพ็ดทูลอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าอยู่หัวของเขา ด้วยเกียรติของคนไทยธรรมดาสามัญ
ไม่รู้สึกกระดากกระเดื่องอย่างไรเลย
เขาจะสยบหัวให้แก่คนขนาดนายอำเภอเท่านั้น
เพราะเขาไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวโดยใช่เรื่อง
อย่างไรก็ตาม รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พ่อก็มาหาผมอีก
คราวนี้ พอแกกลายเป็นคนหนุ่มรุ่นเดียวกับผมไปแล้ว
ผูกเน็คไทอันเบ้อเร่อสีสดทันสมัย
เดินตัวปลิวกว่าผมเป็นกอง
ผูกเสมา ภปร. เสียด้วย
ที่ว่า โนราไม่มีใครถอดได้นั้นจริง ...............
************ ***********
ข้อเขียนถึงขุนอุปถัมภ์นรากร ของอาจารย์คึกฤทธิ์ จบสิ้นสาระสำคัญแต่เพียงเท่านี้ แต่เรื่องราวที่ผู้เรียบเรียงข้อเขียนนี้มีส่วนร่วมอยู่ด้วยยังไม่จบ เพราะหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ส่งจดหมายฉบับหนึ่งมาให้ผู้เรียบเรียงฯ พร้อมคำกล่าวว่า “เอ้า คุณสมบัติ อ่านดู แล้วก็เก็บเอาไว้ให้ที เพราะถ้าวางไว้บนโต๊ะผม เดี๋ยวก็คงมีใครมาเก็บกวาดหายไปอีก จดหมายนี้พ่อแกเขียนมาขอบคุณผม คุณอ่านสำนวนคนโบราณดูเถิดว่าคนไทยที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ซึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนหัวเมือง ห่างไกลเมืองกรุงแค่ไหน แต่ถ้าเป็นคนไทยจริงๆที่มีความสามารถจริงๆแล้ว เขาจะรู้สึกนึกคิดอย่างไรบ้างต่อสิ่งที่เขาเคารพนับถือ คุณลองอ่านดูก็แล้วกัน และสังเกตลายเซ็นแกด้วย งามนักเชียว จดหมายนี้ผมให้คุณเก็บไว้เป็นที่ระลึก เผื่อผมมีอะไรอยากติดต่อกับพ่อแกบ้าง คุณจะได้มีที่ติดต่อของท่านไว้บอกผม”
จดหมายนี้ ผู้เรียบเรียงยังเก็บรักษาเอาไว้นานกว่า ๔๐ ปี เป็นกระดาษหนึ่งแผ่น ที่มีเนื้อความ สาระ และลายเซ็นที่อาจารย์คึกฤทธิ์ชมว่า งามนัก ดังต่อไปนี้
*********** ***********
ตำบลชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
๓๑ มีนาคม ๒๕๑๔
กราบเรียน คุณชายที่เคารพรัก
กระผมและคณะกลับถึงจังหวัดพัทลุงโดยความเรียบร้อย ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เดือนนี้ ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และบุญกุศลของคุณชาย ทุกคนเป็นสุขสบายดี
ด้วยความสัตย์ความจริง ขอประทานกราบเรียนว่า ในการที่กระผมเข้ามากรุงเทพฯครั้งนี้ ได้พึ่งพาอาศัยบารมีของคุณชายเป็นล้นพ้น ที่ได้กรุณาปราณีอุปการะกระผมและคณะทุกประการ กระทั่งสุดยอด ได้เข้าเฝ้าถวายมือต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับว่าในชีวิตกระผมจะหาไม่ได้อีกแล้ว ซ้ำได้รับพระราชทานเสมา และ เหรียญ กับมีกระแสพระราชดำรัสหลายประการ กระผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป้นล้นเกล้าล้นกระหม่อม หาที่สุดมิได้ กระผมถือว่า ทั้งนี้เป็นศิริมงคลแก่กระผมและคณะมหาศาล จะลืมเสียมิได้จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ
แต่ก่อนๆมา แม้ว่าจะมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ก็มิได้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเช่นครั้งนี้ ครั้งนี้นับว่าสุดยอดในชีวิต กระผมขอกราบคุณชายอีกวาระหนึ่ง จะระลึกถึงพระคุณอยู่เสมอ
ในวาระสุดท้ายนี้ กระผมขอน้อมจิตน้อมใจ อาราธนาคุณ