ศาลาโขน
หน้าบ้านมีศาลาไทยหลังใหญ่เรียกว่าศาลาโขน ไว้ใช้ในกิจกรรมอเนกประสงค์ เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระ งานไหว้ครูโขนละคร งานเลี้ยงแขกสำคัญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นที่จัดนิทรรศการประวัติและผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ด้านในสุดมีตู้ใส่หัวโขน ตั้งอยู่ ๒ ข้างรูปหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในเครื่องแต่งกายเต็มยศแบบโบราณเหนือโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งเป็นที่มาของคำเรียกขานว่า “ศาลาโขน” ตู้ด้านหนึ่งเป็นหัวโขนของกองทัพพระราม หรือ ฝ่ายพลับพลา เช่น พระราม พระลักษณ์ หนุมาน สุครีพรวมทั้งศีรษะพระผู้เป็นใหญ่ ๓ พระองค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม และเทพยดาที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์และดนตรี เช่นพระประโคนธรรพ์ พระปัญจสีขร อีกด้านหนึ่งเป็นหัวโขนของกองทัพทศกัณฐ์ หรือฝ่ายลงกา มีหัวโขนทศกัณฐ์หน้าทอง ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ใช้เวลาแสดงโขน ส่วนพระพิราพทรงเครื่องและพระฤาษี หรือพ่อแก่นั้นได้เข้าพิธีไหว้ครูมาแล้วนับสิบปี
ที่ยกพื้นหน้าตู้โขนตั้งเครื่องสังเวยที่ใช้ในเวลาไหว้ครู ซึ่งจะเปลี่ยนดอกไม้และเครื่องสังเวยทุกวันพฤหัสบดี ศาลานี้เสาประธานเป็นไม้แดง ส่วนเสารอบๆเป็นไม้ตะเคียนทอง ไม้ปูยกพื้นเป็นไม้ตะเคียน งานจำหลักไม้ที่หน้าบันเป็นโบราณวัตถุ ที่ขอผาติกรรมมาจากวัดที่อยุธยา
ด้านข้างศาลาโขนมีตู้ลายรดน้ำลงรักปิดทอง ๒ ใบ ตู้ใบใหญ่เป็นตู้สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ฝีมือทำตู้และการเขียนลายรดน้ำงดงามมาก ภาพเขียนด้านข้าง ด้านซ้ายเป็นภาพจำลองความคิดเรื่องไตรภูมิตามธรรมเนียมโบราณ แต่ผู้ที่ตกอยู่ในนรกภูมิล้วนเป็นภาพชาวตกวันตกทั้งสิ้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ขนานนามลายรดน้ำด้านนี้ว่า การ์ตูนการเมืองฉบับแรกของไทย ส่วนตู้ใบเล็กเป็นตู้สมัยเดียวกันแต่ลายเลอะเลือนคุณถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติจึงลงรักทาทองให้ใหม่ และเขียนลายด้วยสีอะคริลิกเป็นภาพเซอร์เรียลิสต์ หมายถึงธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และมีรัฐธรรมนูญวางอยู่บนพาน เพราะเขียนภาพนี้ในปีที่หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี นอกศาลาโขนออกไปมีศาลประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมกระเบื้องเคลือบ ที่ได้รับมอบจากเติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน