การปรับปรุงและเปิดบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ให้สาธารณชนเข้าชม
มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้จัดการเปิดบ้านให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ โดยใช้ชื่อเป็นทางการว่า บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตามพระราชกระแสองค์อุปถัมภ์ เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ท่านเจ้าของบ้าน แทนที่จะใช้ว่า บ้านซอยสวนพลู ตามที่เคยรู้จักกันโดยทั่วไป เพราะคนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้จักว่ามีที่มาอย่างไร
การปรับปรุง บ้านซอยสวนพลูเป็นบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หลังจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถึงแก่อสัญกรรม บ้านซอยสวนพลูทั้งสวนและอาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรม เพราะหมู่บ้านเรือนไทยที่รื้อมาปลูกใหม่เมื่อเกือบ ๔๐ ปีมาแล้วก็เป็นเรือนเก่า ปัจจุบันบางเรือนก็คงมีอายุได้กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว เมื่อก่อนที่จะป่วยหนัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เชิญ ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรมาปรึกษาเรื่องการซ่อมแซมบ้านทั้งหมด เพื่อเป็นการสนองเจตนารมณ์ของท่าน มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ จึงอนุญาต ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของบ้านคนปัจจุบันจัดการซ่อมแซม ดร.สุวิชญ์เป็นผู้ควบคุมการซ่อมแซมให้ถูกวิธีการและมาตรฐาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ทอดพระเนตรการซ่อมแซม องค์กรต่างๆ จากภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ที่สนในศิลฃปวัฒนธรรม และมีความเคารพศรัทธาใน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทั้งทางด้านการงานและส่วนตัวได้บริจาคเงินช่วยเหลือเป้นจำนวนมาก เมื่อการซ่อมแซมสำเร็จบริบูรณ์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานประเภทบ้านบุคคลสำคัญ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
จุดประสงค์ในการเปิดบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ให้สาธารณชนเข้าชม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องคูอุปถัมภ์มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ ทรงแนะนำว่าการซ่อมแซมบ้านได้ใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก และหากทิ้งไว้ก็จะทรุกโทรมลงอีก น่าจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม พระราชทานความเห็นว่า การจัดแสดงไม่ควรจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ควรจะจัดในรูปของบ้านบุคคลสำคัญ ตามที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้และพระราชทานแนวพระราชดำริว่า การเปิดบ้านควรถือเป้าหมายไว้ ๒ ประการ
๑. เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันโดยเฉพาะเยาวชนและรุ่นหลังได้ระลึกถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ไว้แก่ชาติบ้านเมืองไว้อย่างอเนกอนันต์
๒. เรือนไทยที่เป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ ไม่ใช่จัดขึ้นเพื่อการแสดงเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากในสมัยนี้ การจัดบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในรูปของบ้านอยู่อาศัย จะทำให้คนรุ่นหลังเห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของบรรพบุรุษ ที่เน้นความสมถะเรียบง่าย และสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติซึ่งแทบจะไม่รู้จักกันแล้วในปัจจุบัน โดยแสดงให้เห็นว่าฐานะ และรสนิยมมิจำเป็นต้องแสดงออกโดยอาคารห รือเครื่องประดับหรูหราราคาแพง แต่อาจแสดงออกโดยความประณีตในการเลือกที่อยู่อาศัย โดยการเลือกเครื่องใช้เครื่องตกแต่ง ที่มีคุณค่าทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอย และความงดงามละเมียดละไม ซึ่งจะหาได้ตามฐานะของบุคคล ตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้าที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไปจนถึงศิลปวัตถุอันล้ำค่า
เพื่อสนองแนวพระราชดำริการจัดบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงจัดไว้ในสภาพเดิมทุกอย่าง ในห้องนอนก็ยังคงแขวนเสื้อผ้า และจัดโต๊ะแต่งตัวไว้เหมือนเดิม จะขาดก็แต่ท่านเจ้าของบ้าน ซึ่งก็ได้นำภาพขนาดใหญ่ของท่าน มาติดไว้ที่ใต้เรือนไทย ซึ่งท่านผู้เข้าชมจะได้เห็นท่านยิ้มต้อนรับอย่างอบอุ่น ตั้งแต่ก้าวเข้าไปในศาลาใหญ่หน้าบ้าน และไม่ได้นำสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ท่านเจ้าของบ้านเคยเลี้ยงไว้ ได้แก่ นกต่างๆ ทั้งที่แขวนอยู่ในกรงรอบๆ เรือน และที่ปล่อยหากินเป็นอิสระอยู่ในสวน ปลาเงิน ปลาทองอยู่ในตู้ ไก่แจ้ หงส์ฯ มาเลี้ยงใหม่ ซึ่งทำให้เสียบรรยากาศเดิมไปบ้าง
สิ่งนี้เพิ่มาจากสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีชีวิตอยู่ คือ แผงนิทรรศการแสดงชีวิต และผลงาน ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำขึ้นในงานประกาศเกียรติคุณ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชบัญชาให้ขอสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติมาจัดแสดงไว้ที่บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นการถาวร เพราะทรงเห็นว่าเป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นผลงานด้านต่างๆ ของท่านเจ้าของบ้านได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๓