top of page

มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ

ประวัติการก่อตั้ง

ในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ ๘๐ ปีของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๓๔     คุณบุญชู โรจนเสถียร ผู้มีความเคารพนับถือ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างสูง ได้ร่วมกับบรรดามิตรสหายและลูกศิษย์ของอาจารย์คึกฤทธิ์ จัดงานฉลองวันเกิดให้อาจารย์ที่โรงแรมดุสิตธานี  ในงานดังกล่าวบรรดาศิษย์ได้เรี่ยไรเงินจำนวนหนึ่งสมทบทุนใช้เป็นทุนในการจัดตั้งมูลนิธิและได้จดทะเบียน  ในนาม “มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐” ในเวลาต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อ ๑ เมษายน ๒๕๔๓ จึงใช้ชื่อว่า

“มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

 

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ 

เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทย ให้อยู่คู่กับชาติไทย        

ตามเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมูลนิธิฯ ได้ระบุแนวทางในการดำเนินงานไว้ดังต่อไปนี้

๑. อนุรักษ์และเผยแพร่ดนตรี นาฏศิลป์และวัฒนธรรมไทย

๒. ส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีและนาฏศิลป์ไทย

๓. เผยแพร่เกียรติคุณ และให้ความอนุเคราะห์ปูชนียบุคคลทางดนตรี และนาฏศิลป์ไทย

๔. ดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์  หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ  เพื่อสาธารณประโยชน์

๕. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

แนวคิดของการก่อตั้ง
18 03 2016 pipek mask-103-93.jpg

แนวคิดของการก่อตั้งสถาบันคึกฤทธิ์

มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานแนะแนวทางให้มูลนิธิฯ หาวิถีทางที่จะเก็บรักษาปัญญาของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังสามารถศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม   มูลนิธิฯ จึงดำเนินตามพระราชเสาวนีย์ ด้วยการตั้งเป็นโครงการสร้างสถาบันคึกฤทธิ์ขึ้น

 

สถานที่ตั้ง คือ ทุ่งมหาเมฆเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ที่สร้างสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ๘๐ พรรษา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้สร้างสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นในทุกจังหวัด  และพื้นที่ทุ่งมหาเมฆเป็นพื้นที่ที่จัดสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ของกรุงเทพมหานคร  ที่ดินเป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง  และอยู่ไม่ห่างจากบ้านของหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ (บ้านซอยสวนพลู) มากนัก

 

กรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบดูแลสวนเฉลิมพระเกียรติฯ และแบ่งพื้นที่บางส่วน ให้มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯและกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เช่าพื้นที่สร้างอาคาร แล้วทำข้อตกลงไว้ร่วมกันว่ามูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ฯ และ สสส. จะเป็นผู้ทำกิจกรรมเสริมให้สวนเฉลิมพระเกียรติฯ มีคุณค่าและมีชีวิตชีวาขึ้นมา

 

สถาบันคึกฤทธิ์  จะเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและจัดกิจกรรมเผยแพร่เกียรติคุณหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช  โดยในอาคารสถาบันฯ จะจัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ ผลงานและเน้นความสัมพันธ์ระหว่างหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์  ปราโมชกับสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ ของคนในชุมชนโดยรอบ กับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในด้านต่างๆ

ชุมชนทุ่งมหาเมฆเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนประชากร โดยเฉพาะเยาวชนเป็นจำนวนมาก มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ จึงเห็นเหมาะสมที่จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่จะสามารถทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนในชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจปรัชญา แนวความคิดและที่สำคัญที่สุด คือ ความรักและหวงแหนในความเป็นไทย ที่หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นชาติไทย

การก่อตั้งสถาบันคึกฤทธิ์

เจ้าของโครงการ


มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

 

สถานที่ตั้ง
๙๙/๙ ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร

 

เนื้อที่
๑ ไร่ ๓ งาน ๖๕ ตารางวา เป็นที่ดินราชพัสดุ มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ ทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

 

ขนาดอาคาร
อาคาร ๒ ชั้น มีชั้นลอย พื้นที่อาคารประมาณ ๒,๓๗๖ ตารางเมตร
ชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติและผลงาน จัดมุมห้องสมุดที่สนับสนุนนิทรรศการ
ชั้นล่าง พื้นที่ส่วนใหญ่เปิดโล่งสำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน จัดสัมมนาสนับสนุนนิทรรศการและเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ

 

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ผลงานของศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
๒. เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
๓. เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ เผยแพร่ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย
๔. ดำเนินงานงานเพื่อสาธารณประโยชน์ และร่วมกับองค์กรกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

bottom of page